โรงเรียนมวยไทย (ตั้งแต่ปี 2540)
รับรองโดย กระทรวงศึกษาธิการ, สภามวยไทยโลก (WMC)
และสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA)
ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนมวยไทย
ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ พล.อ. วิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก มีความเห็นว่า " มวยไทย " เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก อาจทำให้ชาวต่างชาติที่ขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่อง " มวยไทย " อย่างแท้จริง นำไปเผยแพร่ ในลักษณะการเรียน การสอนที่ไม่มีระบบ ทำให้คุณค่า และศิลปวัฒนธรรมไทยแปรเปลี่ยนไป ในขณะเดียวกันก็เป็นห่วงถึงคนไทย และนักมวยไทยบางคนที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ และขาดจริยธรรมของครูผู้สอนจะนำเอาศิลปะการต่อสู้ของชาติไปทำให้เสียหายด้วยการดำเนินงานนอกระบบในการไปเผยแพร่ในต่างประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว อันจะทำให้ชื่อเสียงของ " มวยไทย " ตกต่ำ โดยแนวคิดดังกล่าวนี้ จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการมวยไทยทุกฝ่าย มาร่วมประชุมกัน ในที่สุดที่ประชุมก็มีมติให้จัดตั้ง สภามวยไทยโลกขึ้นมา เป็นองค์กรหลักเพื่อควบคุมดูแล และเผยแพร่กีฬามวยไทย
หลังจากผ่านการดำเนินงาน โดยการสนับสนุนจาก การกีฬาแห่งประเทศไทยแล้ว คณะรัฐมนตรี ก็มีมติเห็นชอบในการจัดตั้ง เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๘ และได้มีพิธีประกาศสถาปนา สภามวยไทยโลก ต่อหน้าสมาชิก และผู้แทนสมาชิกประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๘ ณ. หอประชุม องค์การสหประชาชาติ ( United Nations Conference Center ) หลังจากผ่านพิธีการประกาศสถาปนาแล้ว สมาชิกจากทุกประเทศได้เรียกร้องต่อที่ประชุมว่า ให้ประเทศไทยจัดตั้งโรงเรียนมวยไทย ขึ้นมา โดย นายอำนวย เกษบำรุง ได้ดำเนินการจดทะเบียนอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ และให้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรมวยไทยเช่นเดียวกับหลักสูตรมาตรฐานในวิชาด้านอื่น ๆ เพื่อให้การเรียน การสอนมวยไทยอยู่ในมาตรฐานตามระบบสากลที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยได้รับใบอนุญาติจัดตั้งโรงเรียนฯอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540
วัตถุประสงค์
1. เพื่อรักษาไว้ซึ่ง ศิลปะการต่อสู่ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าอันยอดเยี่ยมที่เรียกว่า " มวยไทย " ให้เป็นศิลปะวัฒนธรรมของไทย และของโลกสืบไป
2. เพื่อส่งเสริม , เผยแพร่ และสนับสนุนเยาวชน และประชาชนทุกประเทศทั่วโลกให้ได้รับการฝึกอบรม และเรียนรู้มวยไทยอย่างมีระบบ และถูกต้องเป็นแนวทางเดียวกัน
3. เพื่อส่งเสริมสุขภาพพลานามัยของผู้เข้ารับการอบรม และเรียนรู้วิชามวยไทย เพื่อป้องกันตัวเอง และป้องกันบุคคลอื่น
4. เพื่อส่งเสริมมวยไทยให้เป็นกีฬาสากล ทั้งในสายสมัครเล่น และอาชีพ
การดำเนินงาน
โรงเรียนมวยไทย ตั้งอยู่ที่บริเวณ เวทีมวยรังสิต บนเนื้อที่ ๗ ไร่ ติดถนนพหลโยธิน ได้ฤกษ์เปิดรับนักเรียนนานาชาติ รุ่นที่ ๑ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ โดย พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการทหารบก ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย และประธานสภามวยไทยโลก เป็นผู้กล่าวต้อนรับนักเรียน รุ่นที่ ๑ ซึ่งประกอบด้วย ผู้เข้ารับการอบรม และนักเรียนมวยไทยจากประเทศไทย ๑๕๐ คน ร่วมกับนักเรียนมวยไทย จากอเมริกา รวมทั้งสิ้น ๑๖๐ คน
พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร กล่าวว่า การใช้อาวุธมวยไทย มีความสลับซับซ้อนในทุกจังหวะที่เข้าทำ และไม่ซ้ำซ้อนในรูปแบบ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการยากที่จะศึกษาเล่าเรียนให้แตกฉานได้ แต่มวยไทยก็สามารถถ่ายทอดจากครูสู่ลูกศิษย์ได้เป็นอย่างดี ภายใต้หลักวิชาการ ทางด้านพลศึกษา ที่สามารถจัดทำเป็นหลักสูตรขึ้นมารองรับได้ ตั้งแต่ระดับต้น ไปจนถึงระดับสูงสุด และภายใต้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถพิสูจน์ได้ ทั้งในด้านของการเสริมสร้างสมรรถภาพของร่างกาย และในด้านของประสิทธิภาพ พลังอำนาจของอาวุธ นอกจากนี้ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ยังได้แสดงถึงความรัก และหวงแหนในศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยไว้ด้วยว่า มวยไทยได้ถือกำเนินขึ้นจากแผ่นดินไทย และมาจากจิตวิญญาณ และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย จึงไม่อาจเรียกชื่อศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวประเภทนี้ เป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากคำว่า " มวยไทย"
โรงเรียนมวยไทยแห่งนี้นอกจากจะได้รับการจดทะเบียนอนุญาตจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี ในนามกระทรวงศึกษาธิการแล้ว หลักสูตรมวยไทยที่จะใช้เรียนใช้สอนยังได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาของชาติในสาขาวิชาอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้โดยความช่วยเหลือดำเนินการจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันราชภัฎ วิทยาลัยพลศึกษา กรมพลศึกษา การกีฬาแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนของสภามวยไทยโลก หลักสูตรมวยไทยที่ได้รับการพัฒนาจัดทำขึ้นมานี้ประกอบด้วย
1.หลักสูตรมวยไทยระดับต้น ระดับกลาง ระดับก้าวหน้า และระดับอาชีพ ซึ่งจะใช้เวลาเรียนทั้งหมดอย่างน้อย ๑๒๐ วัน
2.หลักสูตรผู้ฝึกสอน ๓ ระดับ รวมเวลาเรียนอย่างน้อย ๖๐ วัน
3.หลักสูตรกรรมการตัดสิน ๓ ระดับ รวมเวลาเรียนอย่างน้อย ๕๐ วัน
นายอำนวย เกษบำรุงผู้อำนวยการโรงเรียนมวยไทย กล่าวถึงแนวทางการบริหารโรงเรียนว่า จะเน้นให้ไปในด้านของการอนุรักษ์ และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ไปพร้อมๆ กับการทำให้โรงเรียนมวยไทยเป็นแหล่งข้อมูลทางด้านวิชาการมวยไทย และเป็นศูนย์กลางการศึกษามวยไทยของนานาชาติทั่วโลกด้วย
โรงเรียนมวยไทยแห่งนี้ประกอบด้วย เวทีซ้อมซึ่งสามารถใช้ทำการแข่งขันได้ จำนวน 2 เวที ซึ่งแบ่งออกเป็นเวทีมวยชาย และเวทีมวยหญิง, ห้องออกกำลังกาย , ห้องสมุด , ห้องเรียนภาคทฤษฎี และห้องเรียนภาคปฏิบัติ นอกจากนี้ยังมีห้องนิทรรศการแสดงถึงการแข่งขันมวยไทยตั้งแต่ยุค คาดเชือกมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ด้วย
ผู้ฝึกสอนมวยไทยที่ได้นำชาวฝรั่งเศสมาเรียนมวยไทยที่โรงเรียนแห่งนี้กล่าวว่า ทันทีที่ปรากฏข่าวทางเอกสาร ประชาสัมพันธ์ของสภามวยไทยโลก ว่า จะมีการตั้งโรงเรียนมวยไทย มาตรฐานระดับโลกขึ้นมาทำให้เกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมากในหมู่ชาวยุโรป โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศสนั้นได้ติดต่อขอเดินทางเข้ามาเรียนอย่างต่อเนื่องตลอดปี เพราะอัตราค่าเรียนและค่าที่พักถูกมาก ส่วนนักมวยประเทศอื่น ๆ ที่จะเดินทางเข้ามาเรียนประกอบด้วย อเมริกา อังกฤษ อิตาลี สเปน เยอรมัน โปรตุเกส สวีเดน โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ ลิกเกนสไตส์ รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไตหวัน จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปินส์ บราซิล อาเจนติน่า โคลัมเบีย ชิลี แม็กซิโก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนชาวต่างชาติมาเรียนแล้วกว่า 108 ประเทศจากทั่วโลก