top of page
มวยไทย
เวทีมวยรังสิต

        กติกาข้อที่ 1 ” สังเวียน “ 
          ในการแข่งขันทั่ว ๆ ไปสังเวียนต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่อไปนี้

  • ขนาดสังเวียนต้องเย็บมุมสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดเลิก ด้านละ 20 ฟุต (6.10 เมตร)และขนาดใหญ่ ด้านละ 24 ฟุต (7.30 เมตร) ซึ่งวัดภายในของเชือก

  • พื้นและมุมพื้นสังเวียนต้องสร้างให้ปลอดภัย และได้ระดับปราศจากสิ่งกีดขวางใด ๆและต้องยื่นออกไปนอกเชือก อย่างน้อย 90 ซม. (36 นิ้ว)พื้นสังเวียนต้องอยู่สูงจากพื้นอาคารไม่ต่ำกว่า 4 ฟุต และสูงไม่เกิน 5 ฟุตตั้งเสาขนาด 4-5 นิ้ว สูงขึ้นไปจากพื้นเวที 58 นิ้วมุมทั้งสี่ต้องหุ้มนวมให้เรียบร้อยหรือจะทำอย่างใดที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่นักมวย

  • การปูพื้นสังเวียน พื้นสังเวียนต้องปูด้วย ยาง ผ้าอย่างอ่อน เสื่อฟางอัดไม้ก๊อกอัดหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม หนาไม่น้อยกว่า 1 นิ้ว และไม่หนากว่า 1 นิ้วและปูทับด้วยผ้าใบให้ตึงและมิดชิดคลุมพื้นสังเวียนทั้งหมด

  • เชือก ต้องมีเชือก 4 เส้น มีความหนาอย่างน้อย 3 ซม. (1.18 นิ้ว) อย่างมาก 5 ซม. (1.97 นิ้ว)ขึงตึงกับเสามุมทั้งสี่ของสังเวียน สูงจากฟื้นสังเวียนขึ้นไปถึงด้านบนของเชือก 45 ซม. (18 นิ้ว) 75 ซม. (30 นิ้ว) 105 ซม. (42 นิ้ว) และ 135 ซม. (54 นิ้ว)ตามลำดับเชือกต้องหุ้มด้วยวัสดุที่อ่อนนุ่มและเรียบเชือกแต่ละด้านของสังเวียนต้องผูกยึดกันด้วยผ้าเหนียว 2 ชิ้น ซึ่งมีขนาดกว้าง 3 – 4 ซม. (1.2 – 1.6 นิ้ว) ให้มีระยะห่างเท่า ๆ กันและผ้าที่ผูกนั้นต้อง

  • ไม่เลื่อนไปตามเชือก

  • บันได สังเวียนต้องมีบันได 3 บันได มีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 3 ½ ฟุตสองบันไดต้องอยู่ที่มุมตรงข้ามสำหรับผู้เข้าแข่งขันและพี่เลี้ยงส่วนอีกบันไดหนึ่งให้อยู่ที่มุม กว้าง สำหรับผู้ชี้ขาดและแพทย์

  • กล่องพลาสติก ที่มุมกลางทั้งสองมุมนอกสังเวียน ให้ติดกล่องพลาสติกมุมละ 1 กล่องเพื่อให้ผู้ชี้ขาดทิ้งสำลี หรือกระดาษที่ใช้ซับเลือก

    ​​กติกาข้อที่ 2 อุปกรณ์สังเวียน

  • ที่นั่งพักนักมวย สำหรับนักมวยนั่งพักระหว่างยก 2 ที่

  • ขวดน้ำขนาดเล็ก 2 ขวด สำหรับดื่ม และขวดน้ำชนิดพ่นฝอย 2 ขวดไม่อนุญาตให้นักมวยหรือที่เลี้ยงใช้ขวดน้ำชนิดอื่น ๆ ในสังเวียน

  • ผ้าเช็ดตัว 2 ผืน

  • น้ำ 2 ถัง

  • โต๊ะและเก้าอี้สำหรับเจ้าหน้าที่

  • ระฆัง

  • นาฬิกาจับเวลาชนิดกดหยุดได้ 1 หรือ 2 เรือน

  • ใบบันทึกคะแนน

  • หีบใส่กุญแจสำหรับเก็บใบบันทึกคะแนน

  • ป้ายบอก ยก – เวลา – คู่ 1 ชุด

  • นวม 2 คู่

  • กางเกงมวยสีแดง และสีน้ำเงิน อย่างละ 1 ตัว

  • กระจับพร้อมเชือก 1 – 2 อัน

  • ฉากบังตา 2 อัน (ใช้ในกรณีที่นักมวยกระจับหลุด)

  • เปลหามคนเจ็บ 1 ชุด

  • กรรไกรปลายมน 1 อัน

    กติกาข้อที่ 3 "นวม"​

  • นวมที่ใช้ในการแข่งขันผู้แข่งขันต้องใช้นวมที่ได้รับการรับรองจากสภามวยไทยโลกซึ่งคณะกรรมการจัดการแข่งขันจัดไว้ให้เท่านั้นไม่อนุญาตให้ผู้แข่งขันใช้นวมของตัวเอง

  • รายละเอียดของนวมนักมวยตั้งแต่รุ่นเล็กถึงรุ่นน้ำหนัก 122 ปอนด์ ใช้นวมขนาด 8 ออนซ์ ( กรัม)นักมวยรุ่นสูงกว่า 122 ปอนด์ ถึงรุ่นน้ำหนัก 147 ปอนด์

  • ใช้นวมขนาด 10 ออนซ์ (284 กรัม)ส่วนที่เป็นหนังต้องหนักไม่เกินครึ่งหนึ่งของน้ำหนักนวมทั้งขนาดและไส้นวมต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของน้ำหนักนวมทั้งหมดไส้นวมต้องไม่เปลี่ยนรูปหรือถูกบดขยี้ให้กระจายไปจากรูปเดิมต้องผูกเชือกนวมให้ปมเชือกอยู่ด้านนอกหลังข้อมือของนวมให้ใช้นามที่สะอาดและให้การได้เท่านั้น

  • การตรวจผ้าพันมือและการสวมนวมทั้งนวมและผ้าพันมือจะต้องเหมาะสม อยู่ภายใต้การตรวจตราของเจ้าหน้าที่ตรวจนวมเจ้าหน้าที่จะต้องคอยดูแลเพื่อให้แน่ใจว่า นักมวยปฏิบัติถูกต้องตามกติกาทุกอย่างจนกระทั่งนักมวยขึ้นสู่เวที

    กติกาข้อที่ 4 "ผ้าพันมือ"

  • ให้ใช้ผ้าพันมืออย่างอ่อนยาวข้างละไม่เกิน 6 เมตร กว้างไม่เกิน 5 ซม.ผ้าพันมือชนิดอื่นใช้ไม่ได้ แถบกาวยางหรือพลาสเตอร์ทุกชนิดเป็นผ้าพันมือไม่ได้เด็ดขาด อาจใช้ พลาสเตอร์ยางไม่เกิน 2.5 เมตร กว่าง 2.5 ซม.ข้างละ 1 เส้น ปิดทับข้อมือหรือหลังมือห้ามพันทับสันหมัด

    กติกาข้อที่ 5 "เครื่องแต่งกาย"
         ก. การแต่งกายของผู้เข้าแข่งขัน ต้องสวมกางเกงขาสั้นเพียงครึ่งโคนขาให้เรียบร้อยไม่สวมเสื้อและรองเท้านักมวยมุมแดงให้กางเกงสีแดงชมพู สีเลือดหมู หรือสีขาวที่มีแถบแดงคาด นักมวยมุมน้ำเงินใช้กางเกงสีน้ำเงินและสีดำห้ามคาดแถบสีแดงและต้องสวมเสื้อคลุมตามข้อบังคับสภาพมวยไทยโลกต้องสวมกระจับที่ทำขึ้นจากวัสดุแข็งแรงทนทาน และได้รับการรับรองจากสภามวยไทยโลกเมื่อถูกตีด้วยเข่าหรืออาวุธในการต่อสู้อย่างอื่นตรงบริเวณอวัยวะเพศจะไม่ทำให้เกิดอันตรายการผูกกระจับต้องผูกปมไว้ด้านหลัง และต้องผูกด้วยเงื่อนตายเก็บปลายเชือกส่วนที่เหลือให้เรียบร้อย

     

  • ห้ามไว้ผมยาวรุงรัง และห้ามไว้เคราอนุญาตให้ไว้หนวดได้แต่ต้องยาวไม่เกินริมฝีปาก เล็บเท้าต้องตัดให้เรียบและสั้น

  • ต้องสวมมงคลผ้าประเจียด หรือรัดเกล้าเฉพาะเวลาร่ายรำไหว้ครู ก่อนทำการแข่งขันเท่านั้น เครื่องรางอนุญาตให้ผูกที่โคนแขนหรือเอว แต่ต้องหุ้มผ้าให้มิดชิดเรียบร้อยเพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่คู่แข่งขัน

  • อนุญาตให้ใช้ปลอกยืดรัดข้อเท้ากันเคล็ด สวมข้อเท้าได้ข้างละไม่เกิน 1 อันแต่ห้ามมิให้เลื่อนปลอกรัดขึ้นไปเป็นสนับแข้งหรือม้วนพับลงมาและห้ามใช้ผ้ารัดขาและข้อเท้า

  • ห้ามใช้เข็มขัดหรือสิ่งที่เป็นโลหะ สร้อยฯลฯ

  • ห้ามใช้น้ำมันวาสลิน น้ำมันร้อน ไขหรือสมุนไพรหรือสิ่งอื่นที่ทำให้คู่แข่งขันเสียเปรียบหรือเป็นที่น่ารังเกียจทาร่างกายหรือนวม

  • ฟันยาง ผู้แข่งขันต้องใส่ฟันยาง


  •      ข.การละเมิดเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย 

  • ผู้ชี้ขาดจะให้นักมวยที่แต่งกายไม่สะอาดถูกต้องออกจากการแข่งขันในกรณีที่นวมหรือเครื่องแต่งกายของนักมวยไม่เรียบร้อยขณะแข่งขันผู้ชี้ขาดจะหยุดการแข่งขันเพื่อจัดให้เรียบร้อย

    กติกาข้อที่ 6 ” การจำแนกรุ่นและการชั่งน้ำหนัก” 
         ก.การจำแนกรุ่นและน้ำหนักที่ใช้ในการแข่งขัน

  • รุ่นมินิฟลายเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 104 ปอนด์ (47.727 กก.)

  • รุ่นจูเนียร์ฟลายเวท  น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน108 ปอนด์ (48.988 กก.)

  • รุ่นฟลายเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 112 ปอนด์ (50.802 กก.)

  • รุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 115 ปอนด์ (52.163 กก.)

  • รุ่นแบนตั้มเวท  น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน118 ปอนด์ (53.524 กก.)

  • รุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 122 ปอนด์ (55.338 กก.)

  • รุ่นเฟเธอร์เวท  น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน126 ปอนด์ (57.153 กก.)

  • รุ่นจูเนียร์ไลท์เวท  น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน130 ปอนด์ (58.967 กก.)

  • รุ่นไลท์เวท  น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน135 ปอนด์ (61.235 กก.)

  • รุ่นจูเนียร์เวลเตอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 140 ปอนด์ (63.503 กก.)

  • รุ่นเวลเตอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 147 ปอนด์ (66.638 กก.)

  • รุ่นจูเนียร์มิดเดิลเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 154 ปอนด์ (69.843 กก.)

  • รุ่นมิดเดิลเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 160 ปอนด์ (71.575 กก.)

  • รุ่นไลท์เฮฟวี่เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 175 ปอนด์ (79.379 กก.)

  • รุ่นครุยเซอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 190 ปอนด์ (86.183 กก.)

  • รุ่นเฮฟวี่เวท น้ำหนักเกิน 190 ปอนด์ขึ้นไป (86.183 กก. ขึ้นไป)

         ข.การชั่งน้ำหนัก

  • ผู้เข้าแข่งขันต้องชั่งน้ำหนักในวันแข่งขันอย่างตัวเปล่าโดยการแข่งขันจะต้องไม่เริ่มขึ้นก่อน 3 ชั่วโมง ภายหลังจากเวลาชั่งน้ำหนัก

  • เมื่อหมดเวลาชั่งน้ำหนักที่กำหนดไว้ ผู้แข่งขันที่น้ำหนักเกินในการชั่งครั้งก่อนให้ทำการชั่งเป็นครั้งสุดท้าย

  • ก่อนชั่งน้ำหนัก ผู้เข้าแข่งขันต้องได้รับการรับรองและการตรวจจากนายแพทย์ที่ได้รับการแต่งตั้งว่าเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ที่จะเข้าแข่งขันได้

    กติกาข้อที่ 7 ” การไหว้ครูและจำนวนยก”

  • ก่อนเริ่มการแข่งขันในยกแรกนักมวยทั้งคู่ต้องร่ายรำไหว้ครูตามประเพณี และถูกต้องตามรูปแบบมวยไทยโดยมีดนตรีประกอบ คือ ปี่ชวา ฉิ่งจับหวังหวะและกลองแขกเมื่อร่ายรำไหว้ครูเสร็จแล้ว จึงให้เริ่มการแข่งขัน

  • ในการแข่งขัน ให้แข่งยัน 5 ยก ยกละ 3 นาที หยุดพักระหว่างยก 2 นาที การหยุดการแข่งขันเพื่อตำหนิโทษ เตือนจัดเครื่องแต่งกาย หรืออุปกรณ์ของนักมวยให้เรียบร้อย หรือด้วยเหตุอื่น ๆไม่นับรวมอยู่ใน 3 นาที

    กติกาข้อที่ 8 ” นักมวย “  นักมวยต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • อายุไม่ต่ำกว่า 14 ปีบริบูรณ์

  • น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 100 ปอนด์

  • ต้องไม่เป็นที่ต้องห้ามตามที่ระบุไว้ในคู่มือแพทย์ของสภามวยไทยโลก

    กติกาข้อที่ 9 ” พี่เลี้ยง”

  • ผู้แข่งขันแต่ละคนให้มีพี่เลี้ยง 2 คนซึ่งต้องปฏิบัติตามกติกา ซึ่งพี่เลี้ยงจะแนะนำ ช่วยเหลือหรือส่งเสริมผู้แข่งขันของตนในระหว่างการชกกำลังดำเนินอยู่ไม่ได้ ถ้าพี่เลี้ยงละเมิดกติกา อาจถูกตำหนิโทษหรือให้ออกจากหน้าที่ นักมวยของเขาอาจถูกผู้ชี้ขาดเตือนตำหนิโทษ หรือให้ออกจากการแข่งขัน อันเนื่องมาจากการทำผิดของพี่เลี้ยง

  • พี่เลี้ยงจะยอมแพ้แทนผู้แข่งขันของตน เช่น โยนฟองน้ำ หรือผ้าเช็ดตัวเข้าไปในสังเวียนไม่ได้

  • ในระหว่างการชกพี่เลี้ยง จะต้องอยู่ในที่นั่งของตนก่อนเริ่มการแข่งขันในแต่ละยกให้พี่เลี้ยงนำผ้าเช็ดตัว ขวดน้ำ ฯลฯออกไปจากขอบสังเวียน

  • ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่มุมระหว่างพักยกพี่เลี้ยงต้องตรวจดูเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ของนักมวยของตนให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมแข่งขันก่อนสัญญาณของยกต่อไปจะดังขึ้น และถ้ามีเหตุที่นอกเหนือความสามารถพี่เลี้ยงจะต้องรีบแจ้งให้ผู้ชี้ขาดทราบทันทีถ้าพี่เลี้ยงละเมิดกติกาอาจถูกตำหนิโทษหรือให้ออกจากหน้าที่นักมวยของเขาอาจถูกผู้ชี้ขาดเตือนหรือตำหนิโทษได้

  • การให้น้ำนักมวยพี่เลี้ยงจะต้องไม่ให้น้ำหนักมวยของตนจนเปียกชุ่ม และต้องไม่ทำให้พื้นเวทีเปียกลื่นจนอาจเป็นอันตรายกับคู่แข่งขัน

  • พี่เลี้ยงต้องสวมเสื้อแสดงสัญลักษณ์คณะนักมวยของตนให้สุภาพเรียบร้อย

  • ห้ามพี่เลี้ยงใช้วาจาไม่สุภาพหรือทำร้ายนักมวยของตน ระหว่างการแข่งขันและภายหลังการแข่งขัน

  • ถ้าเป็นการแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งแชมป์เปี้ยนหรือป้องกันตำแหน่ง ให้มีพี่เลี้ยงได้ฝ่ายละ 3 คน แต่ในการพักระหว่างยกพี่เลี้ยงจะเข้าไปในสังเวียนได้เพียง 2 คนเท่านั้น

  • ในการแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งแชมป์เปี้ยน หรือป้องกันตำแหน่งประธานผู้ตัดสินจะต้องจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ชี้ขาด ผู้ตัดสินผู้จัดการ และพี่เลี้ยงนักมวย เพื่อเน้นให้ทุกคนทราบว่า การไม่ปฏิบัติตามกติกานี้อาจไม่เพียงถูกตัดคะแนนเท่านั้นแต่ยังอาจถูกตัดสินให้แพ้หรือให้ออกจากการแข่งขัน

    กติกาข้อที่ 10 ” คณะกรรมการ “ 
         ก.คุณสมบัติของผู้ชี้ขาด และผู้ตัดสิน

  • ต้อมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์

  • ต้องมีหนังสือรับรองจากแพทย์ของสภามวยไทยโลกรับรองว่าเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์เหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสิน

  • ต้องมีหลักฐานแสดงประสบการณ์ที่ผ่านมา สมรรถภาพทางกายอายุที่ถูกต้องและหลักฐานการประกอบอาชีพ

  • ต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสภามวยไทยโลก
         ข.สถานะภาพของผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสิน

  • ผู้ที่ผ่านการอบรมและการทดสอบจากคณะกรรมการผู้ตัดสิน สภาพมวยไทยโลกจะได้รับการขึ้นทะเบียนผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสินมวยไทย และตราของสภามวยไทยโลกพร้อมกับประกาศนียบัตร

  • ผู้ชี้ขาด และผู้ตัดสินสภามวยไทยโลก ต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี เว้นแต่คณะกรรมการผู้ตัดสินฯ พิจารณาให้ดำรงตำแหน่งผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสินต่อไปในระยะเวลาที่เห็นสมควร

  • คณะอนุกรรมการผู้ตัดสิน ฯมีอำนาจให้ผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสิน พ้นจากหน้าที่เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสินไม่มีประสิทธิภาพหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
         ค.จำนวนผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสิน 

  • ในการแข่งขันต้องมีกรรมการ 4 คน คือกรรมการผู้ชี้ขาดบนเวที 1 คน และกรรมการผู้ตัดสิน 3 คนทั้งนี้ต้องมีประธานผู้ตัดสินเป็นผู้ควบคุมการแข่งขันอีกด้วย

    กติกาข้อที่ 11 ” ผู้ชี้ขาด” 
         ก.ความรับผิดชอบอันดับแรกคือการระมัดระวังดูแล เอาใจใส่นักมวย เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ชี้ขาด
         ข.หน้าที่ผู้ชี้ขาดผู้ชี้ขาดที่จะปฏิบัติหน้าที่ในสังเวียน

  • จะต้องแต่งกายด้วยกางเกงขายาวสีน้ำเงินเสื้อเชิ้ตสีน้ำเงินมีเครื่องหมายของสภามวยไทยโลกและรองเท้าหุ้มข้อชนิดเบาที่ไม่มีส้นรองเท้าต้องไม่สวมแว่นหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะ เล็บมือตัดเรียบสั้นและผู้ชี้ขาดต้อง

  • รักษากติกาและความเป็นธรรมอย่างเคร่งครัด

  • ต้องไม่แสดงกริยาวาจาที่ไม่สุภาพต่อนักมวยและผู้ชม

  • ควบคุมการแข่งขันทุกระยะโดยตลอด

  • ป้องกันนักมวยที่อ่อนแอกว่าไม่ให้ได้รับความบอบช้ำเกินควรโดยไม่จำเป็น

  • ตรวจนวมและเครื่องแต่งกายของนักมวย และฟันยาง

  • ก่อนการแข่งขันในยกแรกต้องให้นักมวยทั้งคู่จับมือกันกลางเวที และเตือนกติกาที่สำคัญๆ บางประการ การจับมือจะกระทำอีกครั้งหนึ่งก่อนเริ่มการแข่งขัน ในยกสุดท้ายห้ามนักมวยทั้งสองจับมือกันระหว่างการแข่งขัน

  • ผู้ชี้ขาดที่ทำหน้าที่ในการแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งแชมป์เปี้ยนหรือป้องกันตำแหน่งต้องชี้แจงกติกาโดยสรุปให้นักมวยและพี่เลี้ยงของนักมวยทั้งสอยฝ่ายทราบในห้องแต่งกายก่อนขึ้นเวที

  • ผู้ชี้ขาด ต้องใช้คำสั่ง 3 คำ คือ
              ”หยุด” เมื่อสั่งให้นักมวยหยุดชก
              ”แยก” เมื่อสั่งให้นักมวยแยกออกจากการกอดรัด
               ”ชก” เมื่อสั่งให้นักมวยชกต่อไป

  • ในกรณีที่ผู้ชี้ขาดสั่งแยกผู้แข่งขันทั้งสอนต้องถอยหลังออกมาก่อนอย่างน้อยคนละ 1 ก้าว แล้จึงชกต่อไป

  • ผู้ชี้ขาด ต้องแสดงสัญญาณที่ถูกต้องให้นักมวยที่ละเมิดกติกาทราบถึงความผิด

  • เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันต้องรวบรวมบัตรให้คะแนนของผู้ตัดสินทั้ง 3 คน จากนั้นชี้มุมผู้ชนะตามเสียงข้างมาก แล้วชูมือนักมวยผู้ชนะขึ้นนำบัตรคะแนนผู้ตัดสิน

  • ทั้ง 3 คน ให้ประธานผู้ตัดสินตรวจสอบ

  • ในการแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งแชมป์เปี้ยนหรือป้องกันตำแหน่งผู้ชี้ขาดจะต้องเก็บบัตรคะแนนจากผู้ตัดสินทั้ง 3 คน ภายหลังจบการแข่งขันทุกยกตรวจสอบแล้วรวบรวมบัตรคะแนนส่งให้กับกรรมการรวมคะแนนและชูมือผู้ชนะภายหลังจากผู้ประกาศผลการแข่งขันแล้ว

  • เมื่อผู้ชี้ขาดปรับมวยเป็นแพ้หรือยุติการชกจะต้องไปแจ้งเหตุผลให้ประธานผู้ตัดสินทราบหลังจากประกาศให้ผู้ชมทราบแล้ว

  • ในกรณีที่ผู้ชี้ขาดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ให้ผู้ตัดสินที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทน

  • ต้องไม่แสดงเจตนาใด ๆ อันส่อให้เห็นว่าให้คุณโทษแก่นักมวยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น นับช้า-นับเร็ว, เตือน-ไม่เตือน ฯลฯอันจะมีผลต่อการได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่นักมวยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

  • ต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์ชี้นำหรือให้สัมภาษณ์ต่อผลการชกที่ไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วก็ตาม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประธานผู้ตัดสิน

  • การตรวจร่างกายผู้ชี้ขาดผู้ชี้ขาดต้องผ่านการตรวจร่างกายจากแพทย์ของสภามวยไทยโลกอย่างน้อยปีละครั้งและก่อนปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันแต่ละครั้งผู้ชี้ขาดต้องได้รับการตรวจร่างกายว่าเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์พอที่จะปฏิบัติหน้าที่ในสังเวียนได้

         ค.อำนาจผู้ชี้ขาดผู้ชี้ขาดมีอำนาจ

  • ยุติการแข่งขันเมื่อเห็นว่าฝ่ายหนึ่งมีฝีมือเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมาก หรือชกอยู่ข้างเดียว

  • ยุติการแข่งขันเมื่อเห็นว่า นักมวยบาดเจ็บจนไม่สามารถจะให้ชกต่อไปได้

  • ยุติการแข่งขันเมื่อเห็นว่า นักมวยไม่แข่งขันกันโดยจริงจัง ในกรณีเช่นนี้อาจให้นักมวยคนหนึ่งหรือสองคนออกจากการแข่งขันก็ได้

  • เตือนนักมวยหรือหยุดการแข่งขัน เพื่อตำหนิโทษนักมวยที่กระทำฟาล์ว หรือด้วยเหตุอื่นเพื่อความยุติธรรม หรือเพื่อความเป็นธรรมในการปฏิบัติตามกติกา

  • ให้นักมวยที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยฉับพลัน ทำร้ายหรือก้าวร้าวผู้ชี้ขาดออกจากการแข่งขัน

  • ให้พี่เลี้ยงที่ละเมิดกติกาออกจากหน้าที่ และให้นักมวยออกจากการแข่งขันถ้าพี่เลี้ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ชี้ขาด

  • ให้ผู้แข่งขันที่กระทำฟาล์วออกจากการแข่งขันโดยได้ตำหนิโทษหรือยังไม่ได้ตำหนิโทษผู้แข่งขันนั้นมาก่อนก็ตามหรือถ้าพิจารณาเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำเพื่อต้องการให้ตนเองถูกจับแพ้ฟาล์ว

  • การแข่งขันในยกใดยกหนึ่ง เมื่อนักมวยที่ถูกนับไปแล้วผู้ชี้ขาดสั่งให้ชกได้และได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วว่านักมวยที่ถูกนับชกไม่เต็มฝีมือ ผู้ชี้ขาดมีสิทธิยุติการารแข่งขันได้

  • ต้องไม่ปล่อยให้นักมวยที่เจตนาทำฟาล์วเป็นฝ่ายได้เปรียบ เช่น จับเชือกเตะจับเชือกตีเข่า เป็นต้น ฯลฯ

         ง.การตำหนิโทษผู้ละเมิดกติกาผู้ชี้ขาดต้องสั่งให้นักมวยหยุดชกเสียก่อน

  • การตำแหนิโทษต้องกระทำอย่างชัดแจ้งเพื่อให้นักมวยเข้าใจเหตุและความมุ่งหมายของการ ตำหนิโทษนั้นผู้ที่ขาดต้องให้สัญญาณมือและชี้ตัวนักมวยให้ผู้ตัดสินทุกคนทราบว่าได้มีการตำหนิโทษหลังจากตำหนิโทษแล้ว ผู้ชี้ขาดต้องสั่งให้นักมวยชก ถ้านักมวย ถูกตำหนิโทษ 3 ครั้ง อาจถูกปรับให้แพ้หรือให้ออกจากการแข่งขัน หากเป็นการกระทำผิดกติกาที่ร้ายแรงให้อยู่ในดุลย์พินิจของผู้ชี้ขาด

         จ.การเตือนผู้ชี้ขาด

  • อาจเตือนนักมวยได้การเตือนเป็นการแนะนำหรือให้นักมวยระมัดระวังหรือป้องกันไม่ให้นักมวยกระทำในสิ่งไม่พึงประสงค์ที่เป็นการละเมิดกติกาในการเตือนที่ไม่ผิด กติกาในระหว่างการแข่งขันนั้นได้

  • เมื่อนักมวยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกนอกเชือก (นอกสังเวียน)ผู้ชี้ขาดต้องสั่งให้นักมวยอีกคนหนึ่งไปอยู่มุมกลางที่ไกลถ้านักมวยที่ออกไปนอกเชือกยังชักช้าไม่เข้ามาภายในสังเวียนให้ผู้ชี้ขาดนับทันที (นับ 10)

  • นักมวยตกเวที ให้ผู้ชี้ขาดนับ 20 (20 วินาที)

  • 2.1 เมื่อนักมวยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกจากเวที ให้ผู้ชี้ขาดนับได้ทันทีถ้านักมวยสามารถกลับเข้ามาภายในเชือกก่อนการนับจะสิ้นสุด ให้ทำกาแข่งขันต่อไปนักมวยจะไม่เสียคะแนนจากการนับครั้งนั้น

  • 2.2 เมื่อนักมวยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกจากเวทีถูกผู้หนึ่งผู้ใดทำการขัดขวางและหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ขึ้นเวที ให้ผู้ชี้ขาดหยุดนับและตักเตือนให้ชัดเจนแล้วจึงนับต่อไป ถ้าผู้หนึ่ง

  • ผู้ใดไม่เชื่อฟังให้หยุดการแข่งขันแล้วแจ้งประธานผู้ตัดสินทราบ

  • 2.3 เมื่อนักมวยทั้งสองฝ่ายตกจากเวที ให้ผู้ชี้ขาดเริ่มนับหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพยายามหน่วงเหนียวด้วยวิธีใดก็ตามให้หยุดการนับและตักเตือนให้ชัดเจน แล้วจึงเริ่มนับต่อถ้านักมวยผู้นั้นไม่รับฟังให้ปรับนักมวยคนนั้นเป็นแพ้ หรือให้ออกจากการแข่งขัน

  • 2.4 ถ้านักมวยทั้งสองฝ่ายตกจากเวที ให้ผู้ชี้ขาดเริ่มนับถ้านักมวยฝ่ายใดกลับเข้ามาภายในเชือกก่อนการนับสิ้นสุดลงจะเป็นผู้ชนะแต่ถ้านักมวยทั้งสองฝ่ายไม่กลับเข้ามาภายในเชือกก่อนการนับสิ้นสุดลงให้ตัดสินเป็นเสมอ

    กติกาข้อที่ 12 ” ผู้ตัดสิน “ 
         ก.หน้าที่ผู้ตัดสิน

  • ผู้ตัดสินแต่ละคนต้องตัดสินการชกของคู่แข่งขันโดยอิสระ และต้องตัดสินไปตามกติกาว่าผู้ใดเป็นผู้ชนะ

  • ผู้ตัดสินแต่ละคนต้องอยู่คนละด้านของเวทีและห่างจากผู้ชม

  • ในระหว่างที่การแข่งขันกำลังดำเนินอยู่ ผู้ตัดสินต้องไม่พูดกับผู้แข่งขันกับผู้ตัดสินด้วยกัน กับบุคคลอื่น ยกเว้นผู้ชี้ขาดถ้ามีความจำเป็นให้ใช้เวลาหยุดพักระหว่างยกแจ้งให้ผู้ชี้ขาดทราบว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น พี่เลี้ยงปฏิบัติผิดมารยาทเชือกหย่อน ฯลฯ ซึ่งผู้ชี้ขาดอาจไม่สังเกตเห็นในขณะนั้น

  • ผู้ตัดสินต้องให้คะแนนแก่ผู้แข่งขันทั้งสองลงในบัตรบันทึกคะแนนทันทีที่สิ้นสุดการแข่งขันแต่ละยก

  • ผู้ตัดสินต้องไม่ลุกจากที่นั่งให้คะแนนจนกว่าผู้ชี้ขาดจะชูมือตัดสินผลการแข่งขันแล้ว

         ข.การแต่งกายผู้ตัดสินต้องแต่งกายตามที่ สภามวยไทยโลก กำหนด กติกาข้อที่ 13 ” การใช้อำนาจเหนือผู้ชี้ขาดและ/หรือผู้ตัดสิน “

  • คำตัดสินของผู้ชี้ขาดและ/หรือผู้ตัดสิน อาจถูกประธานผู้ตัดสินแก้ไขในกรณีต่อไปนี้

  • เมื่อผู้ชี้ขาดปฏิบัติหน้าที่หรือให้คำตัดสินค้านกับบทบัญญัติและกติกาอย่างชัดแจ้ง

  • เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ตัดสิน ผิดพลาดในบัตรให้คะแนนอันมีผลทำให้คำตัดสินผิดไป


    กติกาข้อที่ 13 ” ประธานผู้ตัดสิน “

  • หน้าที่ของประธานผู้ตัดสิน

  • จัดกรรมการผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสินให้ปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละรายการ

  • ปรับปรุงมาตรฐานของผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสินให้เป็นไปตามบทบัญญัติและกติกา

  • พิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสินที่ผ่านมาและหากมีผู้ชี้ขาดหรือผู้ตัดสินคนใดปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีประสิทธิภาพต้องรายงานให้คณะกรรมการสภามวยไทยโลกทราบ

  • แก้ไขปัญหาเบื้องต้นอันเกิดจากการแข่งขันและรายงานให้คณะกรรมการสภามวยไทยโลกทราบ

  • ประธานผู้ตัดสินจะต้องให้คำปรึกษาผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินเกี่ยวกับเรื่องใด ๆก็ตามที่จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป

  • ประธานผู้ตัดสินจะต้องตรวจสอบบัตรให้คะแนนของผู้ตัดสินทั้ง 3 คนเพื่อให้แน่ชัดว่า

  • ก. การรวมคะแนนเป็นไปอย่างถูกต้อง

  • ข.ชื่อนักมวยเป็นไปอย่างถูกต้อง

  • ค. ระบุผู้ชนะถูกต้อง

  • ง.ได้ลงลายมือชื่อในบัตรให้คะแนนแล้ว และต้องตรวจสอบคำตัดสินจากบัตรให้คะแนน

  • จ.สั่งให้แจ้งผลคะแนนเพื่อให้ผู้ประกาศ ประกาศให้ผู้ชมทราบ

  • ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติจนผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินไม่อาจปฏิบัติหน้าที่อันเนื่องจากเหตุการณ์นั้นประธานผู้ตัดสินอาจปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยฉับพลันเพื่อให้การแข่งขันดำเนินต่อไปได้

  • นักมวยที่มีเจตนากระทำความผิดอย่างร้ายแรงขัดต่อความเป็นผู้มีน้ำใจนักกีฬา ประธานผู้ตัดสินมีอำนาจที่จะเสนอความผิดครั้งนี้ต่อคณะกรราการสภามวยไทยโลก

  • เพื่อพิจารณาโทษ

    กติกาข้อที่ 14 ” ผู้รักษาเวลา และผู้ประกาศ “

  • ก. ที่นั่งของผู้รักษาเวลาและผู้ประกาศ ต้องนั่งอยู่ข้างสังเวียน 

  • ข.หน้าที่ผู้รักษาเวลา 

  • หน้าที่สำคัญของผู้รักษาเวลาคือ รักษาจำนวนยกเวลาของแต่ละยก เวลาหยุดพักระหว่างยก และเวลานอกเมื่อกรรมการผู้ชี้ขาดให้สัญญาณโดยมิให้ผิดพลาด ด้วยวิธีปฏิบัติดังนี้

  • อีกห้าวินาทีก่อนเริ่มการแข่งขันของแต่ละยกต้องทำสังเวียนให้ว่างโดยให้สัญญาณ

  • ต้องให้สัญญาณเริ่มยกและหมดยกด้วยการตีระฆัง

  • ต้องหักเวลาออกสำหรับการหยุดชั่วคราว หรือเมื่อผู้ชี้ขาดสั่งให้หยุดเวลา

  • ต้องรักษาเวลาให้ถูกต้องทุกระยะ ด้วยนาฬิกาพกหรือนาฬิกาตั้งโต๊ะ

  • ตอนปลายยกซึ่งไม่ใช่ยกสุดท้าย ถ้ามีนักมวยล้มและผู้ชี้ขาดกำลังนับเมื่อหมดเวลาแข่งขัน (เวลา 3 นาที) ต้องยังไม่ตีระฆังและให้ตีระฆังเมื่อผู้ชี้ขาดสั่ง ”ชก”

  • ตอนปลายยกสุดท้าย ถ้ามีนักมวยล้มและผู้ชี้ขาดกำลังนับ เมื่อหมดเวลา 3 นาทีผู้รักษาเวลาต้องตีระฆังทันที

  • หน้าที่ผู้ประกาศ

  • ต้องประกาศชื่อ – มุม – น้ำหนัก ของนักมวยทั้งสองฝ่ายให้ผู้ชมทราบก่อนการแข่งขันและประกาศอีกครั้งหนึ่งเมื่อนักมวยปรากฏตัวบนเวที

  • ต้องประกาศให้พี่เลี้ยงออกนอกสังเวียน เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนจากผู้รักษาเวลา

  • ต้องประกาศว่าเริ่มยกที่เท่าใดโดยเร็วก่อนสัญญาณเริ่มยก และประกาศอีกครั้งหนึ่งเมื่อสัญญาณหมดยกดังขึ้นว่าหมดยกที่เท่าใด

  • ต้องประกาศว่านักมวยฝ่ายใดเป็นผู้ชนะหลังจากผู้ชี้ขาดชูมือนักมวยแล้ว

    กติกาข้อที่ 15 “การตัดสิน”

  • ให้ดำเนินการตัดสินตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

  • การชนะน็อคเอ๊าท์ (KO) ถ้านักมวย ”ล้ม” และไม่สามารถชกต่อไปได้ภายใน 10 วินาที (ผู้ชี้ขาดนับ 1 – 10 แล้ว) ให้คู่แข่งขันเป็นผู้ชนะโดยน็อคเอ๊าท์

  • ชนะโดยเทคนิเกิลน็อคเอ๊าท์ (TKO) คือกรณีต่อไปนี้

  • 2.1 เมื่อทำให้คู่ต่อสู้ตกเป็นผู้เสียเปรียบ และบอบช้ำมากอาจจะเป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น

  • 2.2 นักมวยฝ่ายใดไม่สามารถที่จะชกต่อไปได้ทันทีภายหลังที่ได้หยุดพักระหว่างยก

  • 2.3 บาดเจ็บถ้าผู้ชี้ขาดเห็นว่านักมวยคนหนึ่งบาดเจ็บ ไม่สามารถชกต่อไปหรือด้วยเหตุทางร่างกายอื่น ๆ ต้องยุติการแข่งขันและให้คู่แข่งขันเป็นผู้ชนะการตัดสินดังกล่าวนี้ เป็นอำนาจของผู้ชี้ขาด อาจจะหารือแพทย์ก็ได้เมื่อหารือแพทย์แล้ว ผู้ชี้ขาดต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

  • 2.4 ในกรณีที่นักมวยทั้งสองฝ่าย ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถที่จะทำการแข่งขันต่อไปได้ทั้งคู่ ถ้าแข่งขันไปแล้วยังไม่ครบ 3 ยกให้ติดสินเสมอกัน แต่ถ้าแข่งขันครบ 3 ยก ให้ติดสินโดยคะแนน

  • 2.5 ถูกนับ 2 ครั้งในยกเดียวกันผ่านไปแล้วและนักมวยผู้นั้นถูกกระทำจนไม่อยู่ในสภาพที่จะทำการแข่งขันต่อไปได้

  • ชนะโดยถอนตัว ถ้านักมวยถอนตัวออกจากการแข่งขันด้วยความสมัครใจอันเนื่องจากการบาดเจ็บหรือเหตุอื่น

  • ชนะโดยคะแนน เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันนักมวยที่ได้รับการตัดสิน โดยเสียงข้างมากของผู้ตัดสินเป็นผู้ชนะ

  • ไม่มีการตัดสิน เมื่อนักมวยถูกตัดสินให้เสียสิทธิ ในการแข่งขันทั้งคู่หรือเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตาม การแข่งขัน จะต้องประกาศว่า ”ไม่มีการตัดสิน” เช่นนักมวยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขึ้นมาแข่งโดยมีเจตนาที่จะแพ้หรือทั้งสองฝ่ายสมยอมกัน

  • ไม่มีการแข่งขัน ในกรณีที่เวทีเกิดความเสียหาย ผู้ชมไม่อยู่ในความสงบจนไม่สามารถที่จะแข่งขันต่อไปได้หรือเกิดเหตุการณ์ที่คัดไม่ถึงให้ยกเลิกการแข่งขันและให้ประกาศว่า ”ไม่มีการแข่งขัน”

  • การตัดสินเสมอ7.1 เมื่อผลการให้คะแนนของผู้ตัดสินส่วนใหญ่เสมอกัน7.2 เมื่อนักมวยถูกนับถึง 10 ทั้งคู่

    กติกาข้อที่ 16 ” การให้คะแนน “ 

  • การให้คะแนนต้องให้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • ก.การชกหมายถึง อวัยวะ (อาวุธ) ที่ใช้ในการต่อสู้ คือ หมัด เท้า เข่า ศอก

  • การชกที่ได้คะแนนมีดังนี้1.1 นักมวยฝ่ายใดใช้อาวุธมวยไทย (หมัด-เท้า-เข่า-ศอก)โดยถูกต้องตามกติกา กระทำถูกคู่แข่งขันได้มากกเป็นผู้ชนะ1.2 นักมวยฝ่ายใดที่ใช้อาวุธมวยไทยตามลักษณะแบบแผนมวยไทยโดยถูกต้องตามกติกากระทำคู่ต่อสู้ได้หนักหน่วง ชัดแจ้ง รุนแรงและถูกเป้าหมายที่สำคัญได้มากกว่า เป็นฝ่ายชนะ1.3 นักมวยฝ่ายใดใช้อาวุธมวยไทยกระทำคู่ต่อสู้ให้เกิดบอบช้ำ บาดแผลที่เป็นอันตรายมากกว่า เป็นฝ่ายชนะ1.4 นักมวยฝ่ายใดเป็นผู้เดินเข้ากระทำ (ฝ่ายรุก) มากกว่าเป็นฝ่ายชนะ1.5 นักมวยฝ่ายใดเป็นผู้ รุก – รับ – หลบหลีก – ตอบโต้ตามลักษณะและชั้นเชิงมวยไทยได้ดีกว่า เป็นฝ่ายชนะ1.6 นักมวยฝ่ายใดที่มิได้กระทำฟาล์วหรือกระทำฟาล์วน้อยกว่า เป็นฝ่ายชนะ

  • การชกที่ไม่ได้คะแนนมีดังนี้2.1 การชกที่ละเมิดกติกาข้อหนึ่งข้อใด2.2 อาวุธที่กระทำไปถูก แขน, ขา ของคู่แข่งขัน อันเป็นลักษณะของการป้องกันของคู่แข่งขันหรือ2.3 อาวุธที่กระทำถูกคู่แข่งขัน แต่เบา คือไม่มีน้ำหนักส่งจากร่างกาย เช่นตัว ลำตัว หรือไหล่

  • ข.การฟาล์ว

  • ระหว่างการชกแต่ละยกผู้ตัดสินต้องคำนึงถึงความสำคัญของการฟาล์วและตัดคะแนนตามที่ผู้ชี้ขาดสั่งให้ตัดคะแนน

  • ถ้าผู้ตัดสินเห็นการฟาล์วอย่างชัดเจนโดยผู้ชี้ขาดไม่ได้สังเกตและตัดคะแนนผู้แข่งขันที่กระทำฟาล์วนั้นผู้ตัดสินจะต้องประเมินดูความรุนแรงของการฟาล์ว และตัดคะแนนไปตามความเหมาะสมพร้อมทั้งระบุไว้ด้วยว่า ทำฟาล์วด้วยเหตุใด

  • ค.เกี่ยวกับการให้คะแนน

  • ในยกหนึ่ง ๆ มีคะแนนเต็ม 10 คะแนนและให้คู่แข่งขันลดลงไปตามส่วน คือ 9 – 8 – 7 คะแนน

  • ในยกที่เสมอกันจะได้ฝ่ายละ 10 คะแนน

  • ผู้ชนะในยกนั้น จะได้คะแนน 10 คะแนนผู้แพ้ได้ 9 คะแนน (10:9)

  • ผู้ชนะในยกที่ชัดเจนมาก จะได้คะแนน 10 คะแนนผู้แพ้ได้ 8 คะแนน (10:8)

  • ผู้ชนะในยกนั้น และได้นับ 1 ครั้ง จะได้คะแนน 10 ผู้แพ้ได้ 8 คะแนน (10:8)

  • ผู้ชนะชัดเจนมากในยกนั้น และได้นับ 1 ครั้งจะได้คะแนน 10 ผู้แพ้ได้ 7 คะแนน (10:7)

  • ผู้ชนะในยกนั้น และได้นับสองครั้งจะได้คะแนน 10 ผู้แพ้ได้ 7 คะแนน (10:7)

  • นักมวยที่กระทำฟาล์วต้องไม่ได้คะแนนเต็มในยกที่ถูกตัดคะแนน

    กติกาข้อที่ 17 ” การชกที่ผิดกติกาและฟาล์ว “

  • กัด ทิ่มลูกนัยตาถ่มน้ำลายรดคู่ต่อสู้ แลบลิ้นหลอก ใช้ศรีษะชนหรือโขก

  • กอดปล้ำหรือทุ่มคู่ต่อสู้ หักหลังคู่ต่อสู้ จับล็อคแขนคู่ต่อสู้ใช้ท่ายูโดและมวยปล้ำทุกท่า

  • ล้มทับหรือซ้ำเติมคู่ต่อสู้ที่ล้มหรือกำลังลุกขึ้น

  • จับเชือกหรือพยายามจับเชือกเพื่อชก

  • ใช้กริยาวาจาไม่เหมาะสมในการแข่งขัน

  • ในกรณีที่มวยกำลังแข่งขัน มีการเกาะกอดเมื่อผู้ชี้ขาดสั่งหยุดแล้วนักมวยทั้งสอนหรือคนเดียวก็ตามไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ผู้ชี้ขาดหยุดการแข่งขันแล้วเตือนหรือสั่งตัดคะแนนก็ได้ถ้าการกระทำครั้งนั้นเป็นผลทำให้คู่แข่งขันถึงน็อคเอ๊าท์หรือแตกเป็นแผลฉกรรณ์ให้ติดสินนักมวยผู้นั้นแพ้ฟาล์ว หรือให้ออกจากการแข่งขัน

  • การตีเข่ากระจับโดยเจตนา เช่น จับคอตีเข่ากระจับ แทงเข่ากระจับหรือโยนเข่าถูกกระจับ (ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ชี้ขาดว่าเป็นการเจตนาหรือไม่)การตัดคะแนนนักมวยที่กระทำฟาล์ว ผู้ชี้ขาดจะสั่งตัดครั้งละ 1 คะแนนการปฏิบัติต่อนักมวยที่ถูกเข่าที่กระจับให้ผู้ชี้ขาดขอเวลานอกให้นักมวยที่ถูกเข่าที่กระจับพักไม่เกินครั้งละ 5 นทีจากนั้นจึงให้การแข่งขันดำเนินต่อไป

    กติกาข้อที่ 18 ” ล้ม “

  • ล้ม หมายถึง
    1.1 ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายถูกพื้นเวที นอกจากเท้า
    1.2 ยืนพับอยู่บนเชือกหมดสติ
    1.3 ถูกชกออกไปนอกสังเวียน
    1.4 ถูกชกอยู่ฝ่ายเดียวอย่างหนักโดยไม่มีการตอบโต้และไม่ล้มหรือไม่ทับอยู่บนเชือก

  • ในกรณีที่นักมวยคนหนึ่งคนใดถูกกระทำล้มลง ให้ผู้ชี้ขาดเริ่มนับ พร้อมกับให้ผู้ชกรีบถอยห่างออกไปอยู่มุมกลางไกลทันที ถ้าไม่ยอมถอยออกไปตามคำสั่งของผู้ชี้ขาดผู้ชี้ขาดต้องหยุดนับจนกว่าผู้ชกนั้นจะปฏิบัติตามคำสั่งจึงให้ผู้ชี้ขาดนับต่อไปจากที่ได้นับแล้ว เมื่อผู้ล้มลุกขึ้นมาแล้วและได้รับคำสั่งจากผู้ชี้ขาดให้ชก จึงจะชกต่อไปได้

  • เมื่อนักมวยคนหนึ่งคนใดล้มลง ให้ผู้ชี้ขาดนับดัง ๆ จาก 1 – 10 โดยทอดระยะห่างกัน 1 วินาที และทุก ๆ วินาทีที่นับ ผู้ชี้ขาดต้องให้สัญญาณมือด้วยเพื่อนักมวยผู้ล้มจะได้รู้ว่าตนถูกนับ

  • ถ้านักมวยผู้ล้มลุกขึ้นได้ก่อนผู้ชี้ขาดนับ ”สิบ” และพร้อมที่จะชกต่อไปได้แต่ถ้ายังนับไม่ถึง 8 ผู้ชี้ขาดจะต้องนับต่อไปจนถึง 8 เสียก่อนจึงให้ชกกันต่อไปแต่ถ้าผู้ชี้ขาดได้นับ ”สิบ” แล้ว ให้ถือว่าการต่อสู้ได้สิ้นสุดลงและต้องตัดสินให้ผู้ที่ล้มนั้นแพ้โดย ”น็อคเอ๊าท์”

  • ถ้านักมวยล้มลงพร้อมกันทั้งสองคนให้ผู้ชี้ขาดนับต่อไปตลอดเวลาที่คนใดคนหนึ่งล้มอยู่ถ้านักมวยทั้งสองคนยังล้มอยู่จนกระทั่งนับสิบ ให้ติดสินเสมอกันในกรณีที่นักมวยล้มลงทั้งคู่และบังเอิญแขนขาทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกัน หรือทับกันโดยที่นักมวยทั้งคู่กำลังลุกขึ้นผู้ชี้ขาดต้องแยกออกจากกันและควรหยุดนับในช่วงนั้น

  • ถ้านักมวยผู้ล้มลงขึ้นมาได้ก่อนนับสิบ แต่กลับล้มลงไปโดยมิได้ถูกชกอีก ให้ผู้ชี้ขาดนับต่อไปจากที่นับมาแล้ว

  • นักมวยผู้ใดไม่พร้อมที่จะชกต่อไปได้ทันทีภายหลังที่เวลาหยุดพักระหว่างยกหมดไปแล้ว ผู้ชี้ขาดจะต้องนับยกเว้นเครื่องแต่งกายไปไม่เรียบร้อย

    กติกาข้อที่ 20 ” คุณสมบัติของแพทย์สนาม “

  • จะต้องแต่งตั้งกรรมการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในการปฏิบัติหน้าที่โดยการรับรองจากสภามวยไทยโลก

    กติกาข้อที่ 21 ” การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ “

  • ตรวจร่างกายผู้เข้าแข่งขันก่อนการชั่งน้ำหนักตัว

  • อยู่ประจำตลอดการแข่งขันและไม่ควรลุกไปจากที่ที่จัดไว้ก่อนการแข่งขันคู่สุดท้ายสิ้นสุดลงและจนกว่าจะได้ดูแลนักมวยที่แข่งขันคู่สุดท้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว

  • ตรวจร่างกายนักมวยหักการแข่งขัน และแจ้งระยะพักฟื้น

    กติกาข้อที่ 22 ” การตรวจทางการแพทย์ “

  • นักมวยผู้เข้าทำการแข่งขันต้องได้รับการตรวจร่างกายโดยกรรมการฝ่ายแพทย์ และต้องมีความสมบูรณ์ แข็งแรงไม่มีโรค หรือการป่วยเจ็บ ที่เป็นข้อห้ามเข้าทำการแข่งขันตามที่ระบุในคู่มือแพทย์ของสภามวยไทยโลก

  • นักมวยที่จะไปทำการแข่งขันต่างประเทศต้องได้รับการตรวจร่างกายและที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหาร ฯอนุญาตให้ทำการแข่งขันได้ โดยไม่ขัดกับบัญชีโรคหรือการเจ็บป่วย ที่ห้ามทำการแข่งขันและไม่ขัดกับกฏระเบีบบทางการแพทย์ของประเทศที่นักมายจะไปทำการแข่งขันด้วย

    กติกาข้อที่ 23 “กรรมวิธีภายหลังการน็อคเอ๊าท์ และเทคนิเกิลน็อคเอ๊าท์”

  • นักมวยหมดสติ ถ้านักมวยหมดสติ อนุญาตให้เฉพาะผู้ชี้ขาด และแพทย์เท่านั้นเข้าไปในสังเวียน ผู้อื่นอาจเข้าไปในสังเวียนได้ถ้าแพทย์ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

  • การช่วยเหลือทางการแพทย์นักมวยที่ถูกน็อคเอ๊าท์หรือเทคนิเกิลน็อคเอ๊าท์จะต้องได้รับการตรวจร่างกายโดยละเอียดและให้การรักษาพยาบาลทันที

  • ระยะพักฟื้น นักมวยภายหลังการแข่งขันต้องหยุดพักร่างกาย ก่อนทำการแข่งขัน ไม่น้อยกว่า 21 วัน ยกเว้น3.1 นักมวยผู้แข่งขันเป็นผู้ชนะภายใน 1 ยก ต้องหยุดพักร่างกายก่อนทำการแข่งขันไม่น้อยกว่า 7 วัน3.2 นักมวยผู้แข่งขัน เป็นผู้ชนะ ภายใน 3 ยกต้องหยุดพักร่างกายก่อนทำการแข่งขัน ไม่น้อยกว่า 14 วัน3.3 นักมวยผู้แข่งขันแพ้น็อคเอ๊าท์หรือแพ้เทอนิเกิลน็อคเอ๊าท์ ต้องหยุดพักร่างกายก่อนทำการแข่งขันไม่น้อยกว่า 30 วัน3.4 นักมวยใน 3.1, 3.2, 3.3 จะได้รับการตรวจวินิจฉัยจากกรรมการฝ่ายแพทย์หลังแข่งขันทันที เพื่อแจ้งระยะพักฟื้นก่อนทำการแข่งขันในครั้งต่อไป ภายหลังการแข่งขันสิ้นสุดลงโดยมีใบรับรองจากแพทย์ ทุกครั้ง

    กติกาข้อที่ 24 ” การใช้ยา″

  • ห้ามใช้ยาหรือสารกระตุ้นแก่นักมวยไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือระหว่างการแข่งขันผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับแพ้

  • การใช้ยาเฉพาะที่เพื่อห้ามเลือด อนุญาตให้ใช้ Adrenalin 1:1000 และต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการฝ่ายแพทย์เท่านั้น

    กติกาข้อที่ 25 ” การตีความ” 

  • การตีความหมายใด ๆ ตามกติกานี้ หรือมีปัญหาใด ๆเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากผู้แข่งขันแม้มิได้กล่าวไว้ในกติกานี้ก็ดีให้ประธานผู้ตัดสิน และ/หรือ ผู้ชี้ขาดเป็นผู้พิจารณา สิ่งที่ต้องปฏิบัติเหมือนกันบนเวที คือ

  • ตรวจความเรียบร้อยเช่น เครื่องแต่งกาย

  • ต้องไหว้ครู ถ้าไม่ไหว้ครูจะไม่มีการแข่งขัน

  • ชี้แจงกติกาต้องพูดว่า ”ชกให้เต็มที่ มีน้ำใจ เป็นนักกีฬา ห้ามทำฟาล์วใด ๆ ทั้งสิ้นและต้องฟังคำสั่งอย่างเคร่งครัด ขอให้โชคดี”

  • ชี้ให้นักมวยเข้ามุมเพื่อถอดมงคลใส่ฟันยาง

  • ให้สัญญาณแก่ผู้รักษาเวลา ให้ตีระฆังยกแรก ในยกต่อ ๆไปไม่ต้องให้สัญญาณ

  • ให้สัญญาณการชก

  • ต้องแน่ใจว่านักมวยหยุดและแยกเข้ามุมแล้วจึงเดินเข้ามุมกลาง

  • เมื่อหมดยกสุดท้าย ก่อนรวบรวมใบคะแนนต้องให้นักมวยอยู่ในมุมของตนก่อน

  • รวบรวมใบคะแนนจากผู้ตัดสินตามลำดับ

  • ชูมือผู้ชนะโดยหันหน้าไปในทิศทางเดียวกันกับนักมวย

  • การยืนมุมของผู้ชี้ขาดต้องยืนอย่างสง่าผ่าเผย ให้ยืนได้ 2 แบบ คือ- เอามือไขว้หลัง- กางแขนทาบไปตามเชือกเส้นบน- ต้องยืนตรง

  • ห้ามผลักนักมวย

  • ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรใช้เท้ากันหรือแยกมวย และไม่ควรยกเท้าสูง

  • การรับศีรษะนักมวยถือเป็นศิลปการห้ามมวยควรทำ

  • กรรมการต้องมีบุคลิกดีเครื่องแต่งกายดี ร่างกายดี

  • ไม่ลงจากเวทีก่อนนักมวย 

  • จรรยาบรรณของผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสิน

  • ต้องไม่มีพฤติการที่ส่อไปในทางทุจริต

  • ต้องไม่ให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์ที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียในการตัดสิน

  • ต้องไม่ประพฤติผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง

  • ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนการแข่งขัน 24 ชั่วโมง


    ขอขอบคุณ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย

bottom of page